หน้าแรก เกี่ยวกับกองทุน แนวทางในการบริหารกองทุน
แนวทางในการบริหารกองทุน
 


สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (‘สำนักงาน กกพ.’) จัดตั้งขึ้นตามมาตรา 30 แห่งพระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550 มีภารกิจหลักในการรับผิดชอบงานธุรการของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (‘กกพ.’) รับค่าธรรมเนียมตามที่กฎหมายกำหนด รับเรื่องร้องเรียนจากประชาชนเกี่ยวกับการประกอบกิจการพลังงาน ศึกษาวิเคราะห์และรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับการประกอบกิจการพลังงาน และการพยากรณ์ความต้องการไฟฟ้า และภารกิจอื่นๆ

กองทุนพัฒนาไฟฟ้า ถูกจัดตั้งขึ้นภายในสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ตามมาตรา 93 แห่งพระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550 มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นทุนสนับสนุนให้มีการให้บริการไฟฟ้าไปยังท้องที่ต่างๆ อย่างทั่วถึง เพื่อกระจายความเจริญไปสู่ท้องถิ่น พัฒนาชุมชนในท้องถิ่นที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินงานของโรงไฟฟ้า ส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียนและเทคโนโลยีในการประกอบกิจการไฟฟ้าที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อย โดยคำนึงถึงความสมดุลของทรัพยากรธรรมชาติและสร้างความเป็นธรรมให้กับผู้ใช้ไฟฟ้า

สำนักงาน กกพ. จัดตั้งฝ่ายบริหารกองทุนพัฒนาไฟฟ้าขึ้น เพื่อทำหน้าที่กำกับดูแลกองทุนพัฒนาไฟฟ้า โดยมีหน้าที่หลักคือการเสนอแนะนโยบายการกำกับดูแล และหลักเกณฑ์ในการรับจ่ายเงินกองทุนพัฒนาไฟฟ้า และดำเนินการเกี่ยวกับการเงิน การบัญชี การบริหารจัดการเงินทุน และจัดทำรายงานการรับจ่ายเงินกองทุนต่อ กกพ. โครงสร้างการกำกับดูแลของ กกพ. และ สำนักงาน กกพ.

การบริหารกองทุนพัฒนาไฟฟ้าให้มีประสิทธิภาพ สำนักงาน กกพ. จำเป็นที่จะต้องกำหนดโครงสร้างการบริหารงานและการกำกับดูแลกองทุนพัฒนาไฟฟ้า และออกแบบกระบวนการทำงานรับเงิน จ่ายเงิน บริหารโครงการ และติดตามประเมินผล รวมทั้งแบบฟอร์มต่างๆ และรูปแบบรายงานผลการดำเนินงาน นอกจากนี้ยังต้องประสานงานกับคณะที่ปรึกษาต่างๆ ของ สกพ. เพื่อร่างระเบียบต่างๆ ที่จำเป็นในการดำเนินงานของกองทุนพัฒนาไฟฟ้า และติดตามประเมินผล รวมทั้งการพัฒนาระบบบัญชีและระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อรองรับการดำเนินงานของกองทุนในอนาคต



หลักเกณฑ์ในการกำกับดูแลกองทุนพัฒนาไฟฟ้า

หลักการพื้นฐาน 5 ประการในการกำกับดูแลกิจการมีองค์ประกอบเกี่ยวกับ การตรวจสอบและถ่วงดุลอำนาจ ความโปร่งใสและตรวจสอบได้ การวางโครงสร้างผลตอบแทนให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์หลัก การบริหารจัดการผู้มีส่วนได้เสียอย่างเหมาะสม และการปฏิบัติหน้าที่ของผู้บริหาร คณะกรรมการ คณะอนุกรรมการ และผู้บริหารโดยมีความเอาใจใส่ และรักษาผลประโยชน์ขององค์กรอย่างเต็มที่

กกพ. มีภารกิจหลักในการเป็นองค์กรกำกับดูแลอุตสาหกรรมพลังงาน (ไฟฟ้าหรือก๊าซธรรมชาติ) การบริหารเงินกองทุนพัฒนาไฟฟ้าเป็นหนึ่งในอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายที่กำหนดไว้ใน มาตรา 10 (10) ตาม พ.ร.บ. การประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550 โดยคาดว่า กองทุนพัฒนาไฟฟ้ามีวัตถุประสงค์หลากหลายนอกเหนือจากการกำกับดูแลกิจการพลังงาน ทั้งด้านการบริหารโครงการพัฒนาชุมชน การส่งเสริมพลังงานหมุนเวียน ฯลฯ และจะมีขนาดของเงินกองทุนในแต่ละปีไม่ต่ำกว่าหนึ่งหมื่นล้านบาท และมีธุรกรรมต่างๆ ไม่น้อยกว่าสามพันธุรกรรมต่อปี ดังนั้น โครงสร้างการกำกับดูแลกองทุนพัฒนาไฟฟ้าจะต้องสามารถอำนวยให้ กกพ. ปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายได้อย่างสมบูรณ์ในการบริหารกองทุน พร้อมทั้งยังสามารถมุ่งเน้นการดำเนินการตามภารกิจหลักของตนได้

โครงสร้างการกำกับดูแลผ่านคณะกรรมการกองทุน เป็นโครงสร้างที่มีการจัดตั้งคณะกรรมการกองทุนขึ้นมา 1 คณะ เพื่อทำหน้าที่บริหารงานกองทุนพัฒนาไฟฟ้า และให้มีการจัดตั้งคณะอนุกรรมการอีก 2 คณะ คือ คณะอนุกรรมการกลั่นกรองแผนงานและโครงการ และคณะอนุกรรมการติดตามและประเมินผลโครงการ




องค์ประกอบของคณะกรรมการกองทุน และคณะอนุกรรมการ

คณะกรรมการกองทุนพัฒนาไฟฟ้า

คณะกรรมการกองทุนพัฒนาไฟฟ้าเพื่อกำกับดูแลกองทุนพัฒนาไฟฟ้ามีบทบาทในการเพิ่มความคล่องตัวให้กับการบริหารกองทุนพัฒนาไฟฟ้าและแบ่งเบาภาระงานของ กกพ. เนื่องจากมีธุรกรรมที่จะต้องพิจารณาในปริมาณมากในแต่ละปี 


หน้าที่และความรับผิดชอบของคณะกรรมการกองทุนพัฒนาไฟฟ้า

คณะกรรมการกองทุนฯ จะมีหน้าที่และความรับผิดชอบหลักดังต่อไปนี้
  1. ทบทวนแผนงานซึ่งรวมถึงสัดส่วนการจัดสรรเงินกองทุน และงบประมาณประจำปีของกองทุนพัฒนาไฟฟ้า ในภาพรวม ให้สอดคล้องกับนโยบายของ กกพ.
  2. กำกับดูแลและบริหารงานกองทุนพัฒนาไฟฟ้าภายใต้นโยบายและงบประมาณที่ได้รับอนุมัติจาก กกพ. 
  3. กำหนดหลักเกณฑ์การบริหารเงินกองทุน 
  4. อนุมัติหลักเกณฑ์การพิจารณาโครงการและหลักเกณฑ์การรายงานและติดตามโครงการ 
  5. อนุมัติโครงการตามมาตรา 97(4) และ 97(5)
  6. แต่งตั้งคณะอนุกรรมการของกองทุนพัฒนาไฟฟ้า 
  7. อนุมัติการโอนหรือเปลี่ยนแปลงงบประมาณรายจ่ายดำเนินงานของกองทุนพัฒนาไฟฟ้า ภายในวงเงินงบประมาณที่ได้รับอนุมัติจาก กกพ. และให้นำเสนอ กกพ. เพื่อทราบ
  8. ทบทวนผลการดำเนินงานของกองทุนพัฒนาไฟฟ้า 
  9. กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการรับ เก็บรักษา จ่ายเงิน ตรวจสอบ และอนุมัติโครงการของกองทุน
  10. ให้ข้อเสนอแนะในการออกระเบียบ ข้อบังคับ และคำสั่งเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคล การบรรจุ แต่งตั้ง ถอดถอน และวินัยของพนักงาน ตลอดจนการกำหนดเงินเดือนและเงินอื่นรวมถึงการสงเคราะห์และสวัสดิการ

เนื่องจากกฎหมายกำหนดให้ กกพ. เป็นผู้ออกระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการบริหารกองทุนพัฒนาไฟฟ้า ดังนั้น แนวนโยบายและระเบียบต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการบริหารกองทุนพัฒนาไฟฟ้าที่กำหนดโดยคณะกรรมการกองทุนฯ จะต้องนำเสนอพิจารณา และประกาศโดย กกพ.




คณะอนุกรรมการกลั่นกรองแผนงานและโครงการ


เพื่อกำกับการใช้เงินกองทุนให้เกิดประโยชน์ตามวัตถุประสงค์กองทุน และเพื่อให้การอนุมัติโครงการมีมาตรฐาน และโปร่งใส ควรมีการจัดตั้งคณะอนุกรรมการกลั่นกรองแผนงานและโครงการขึ้น เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ในการพิจารณาโครงการ โดยคณะอนุกรรมการกลั่นกรองแผนงานและโครงการพิจารณาการใช้เงินกองทุนพัฒนาไฟฟ้าเพื่อพัฒนาชุมชนตามมาตรา 97 (3) (4) และ (5) โดยสำหรับการใช้จ่ายเงินตามโครงการในมาตรา 97 (3) จะถูกกลั่นกรองมาจากคณะกรรมการกองทุนในพื้นที่เป็นหลักและนำเสนอต่อคณะกรรมการกองทุนพัฒนาไฟฟ้า ผ่านคณะอนุกรรมการกลั่นกรองแผนงานและโครงการ เพื่อให้ความเห็นในภาพรวม ดังนั้น คณะอนุกรรมการกลั่นกรองแผนงานและโครงการจะมีหน้าที่หลักในการพิจารณาการใช้เงินตามมาตรา 97 (4) และ (5) เป็นหลัก 


หน้าที่และความรับผิดชอบของคณะอนุกรรมการกลั่นกรองแผนงานและโครงการ


คณะอนุกรรมการกลั่นกรองแผนงานและโครงการมีหน้าที่และความรับผิดชอบหลักดังนี้
  1. ทบทวนแผนงานและงบประมาณประจำปีของกองทุนพัฒนาไฟฟ้า ในภาพรวมและรายละเอียดรายกองทุนในพื้นที่
  2. ทบทวนเงื่อนไขและหลักเกณฑ์ในการเสนอโครงการ รวมถึงหลักเกณฑ์ในการพิจารณากลั่นกรองโครงการ ทั้งการกลั่นกรองโดยส่วนกลางและในเขตพื้นที่ เพื่อให้โครงการเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของกองทุนและเพื่อสร้างประโยชน์สูงสุดให้ชุมชน
  3. ทบทวนหลักเกณฑ์ในการรายงานและติดตามประเมินผลการดำเนินงานของกองทุน เพื่อใช้เป็นแนวทางปฏิบัติในการติดตามประเมินผลการดำเนินงานของกองทุน โดยฝ่ายบริหารกองทุนพัฒนาไฟฟ้า คณะอนุกรรมการติดตามและประเมินผลโครงการ และคณะกรรมการกองทุนในเขตพื้นที่
  4. พิจารณากลั่นกรองโครงการตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด
  5. เสนอความเห็นเพื่อประกอบการพิจารณาอนุมัติโครงการตามมาตรา 97(4) และ 97(5) ต่อคณะกรรมการกองทุนพัฒนาไฟฟ้า
  6. บริหารจัดการงบประมาณการใช้เงินกองทุนตามมาตราการใช้จ่ายเงิน
  7. กำหนดข้อเสนอแนะหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการสนับสนุนโครงการ
  8. รายงานผลการปฏิบัติงานต่อคณะกรรมการกองทุนพัฒนาไฟฟ้า

คณะอนุกรรมการติดตามและประเมินผลโครงการ

ตามหลักธรรมาภิบาลที่ดีควรมีการแบ่งแยกอำนาจการตรวจสอบออกจากอำนาจการบริหารงาน เพื่อให้การตรวจสอบมีอิสระจากผู้บริหารและมีความโปร่งใส นอกจากนี้กองทุนพัฒนาไฟฟ้ามีความจำเป็นที่จะต้องวัดผลความสำเร็จของการใช้เงินกองทุนพัฒนาไฟฟ้าในแต่ละโครงการที่ได้รับเงินสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาไฟฟ้าไป ซึ่งผลการดำเนินงานของแต่ละโครงการจะเป็นข้อมูลสำคัญที่บ่งบอกถึงความความโปร่งใสในการอนุมัติโครงการและประสิทธิภาพของการใช้เงินกองทุนในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา และยังเป็นข้อมูลสำหรับการกำหนดนโยบายการพิจารณากลั่นกรองโครงการและการทบทวนการดำเนินงานและการกำกับดูแลในอนาคต ดังนั้น จึงควรมีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการติดตามและประเมินผลโครงการ ซึ่งต้องไม่อยู่ในคณะอนุกรรมการกลั่นกรองแผนงานและโครงการ


หน้าที่และความรับผิดชอบของคณะอนุกรรมการติดตามและประเมินผลโครงการ

คณะอนุกรรมการติดตามและประเมินผลโครงการมีหน้าที่และความรับผิดชอบหลักดังต่อไปนี้
  1. กำกับดูแลให้มีการรายงานและติดตามประเมินผลโครงการ ตามหลักเกณฑ์ในการรายงานและติดตามประเมินผลการดำเนินงานของกองทุน
  2. ติดตามและประเมินผลการใช้จ่ายเงินของแต่ละโครงการให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและตรงตามข้อเสนอขอรับเงินสนับสนุนของแต่ละโครงการ
  3. เสนอแนะแนวทางการปรับปรุงการดำเนินโครงการที่ไม่เป็นไปตามแผนที่กำหนดไว้
  4. กำกับดูแลให้คณะกรรมการกองทุนในเขตพื้นที่ติดตามโครงการตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้
  5. รายงานผลการปฏิบัติงานต่อคณะกรรมการกองทุนพัฒนาไฟฟ้า


คณะกรรมการกองทุนในเขตพื้นที่

ตามระเบียบคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานว่าด้วยกองทุนพัฒนาไฟฟ้าเพื่อการพัฒนาหรือฟื้นฟูท้องถิ่นที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินงานของโรงไฟฟ้า พ.ศ. 2553 ซึ่งมีการกำหนดให้แบ่งกองทุนเป็น 3 ประเภท คือ กองทุนประเภท ก มีการบริหารจัดการเต็มรูปแบบ โดยให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการกองทุนในเขตพื้นที่ และคณะกรรมการในระดับตำบล/ชุมชน กองทุนประเภท ข มีการบริหารจัดการระดับปานกลาง โดยให้มีการจัดตั้งเฉพาะคณะกรรมการกองทุนในเขตพื้นที่ และกองทุนประเภท ค มีการบริหารจัดการจำกัด ขึ้นกับจำนวนเงินที่ได้รับการจัดสรร



หน้าที่และความรับผิดชอบของคณะกรรมการกองทุนในเขตพื้นที่

อำนาจหน้าที่หลักของคณะกรรมการกองทุนในเขตพื้นที่ สรุปได้ดังนี้
  1. จัดทำแผนยุทธศาสตร์ แผนบริหารงานประจำปี แผนการจัดสรรเงินเพื่อใช้ในการฟื้นฟูท้องถิ่นในเขตพื้นที่ ส่งให้ฝ่ายบริหารกองทุนพัฒนาไฟฟ้า เพื่อนำเสนอต่อ กกพ. พิจารณาอนุมัติ
  2. ส่งเสริมสนับสนุนให้มีการสำรวจความต้องการของประชาชนและสำรวจผลกระทบจากการดำเนินงานของโรงไฟฟ้าเป็นประจำทุกปี เพื่อใช้ประกอบการจัดทำโครงการชุมชน
  3. พิจารณาอนุมัติโครงการชุมชน ภายใต้กรอบแผนงานที่ได้รับอนุมัติจาก กกพ.
  4. จัดทำสัญญาโครงการชุมชน และเบิกจ่ายเงินสนับสนุนตามแผนงาน/งวดเงินเพื่อการดำเนินงานโครงการชุมชน
  5. ติดตาม ตรวจสอบ ประเมินผล และรายงานผลการดำเนินงานโครงการชุมชน ส่งให้ฝ่ายบริหารกองทุนพัฒนาไฟฟ้า
  6. จัดทำบัญชีและรายงานสถานะเงินกองทุนในเขตพื้นที่ เสนอต่อ กกพ. เป็นรายไตรมาสและรายปี ตามระเบียบ วิธีการ และรูปแบบที่ กกพ. กำหนด
  7. ดำเนินการอื่นใดเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของการบริหารเงินกองทุนในเขตพื้นที่ ทั้งนี้ต้องอยู่ภายใต้กฎหมาย ระเบียบ ประกาศ คำสั่ง และวิธีปฏิบัติที่ได้กำหนดไว้




หน้าแรก
เกี่ยวกับกองทุน
  • แนะนำกองทุนพัฒนาไฟฟ้า
  •     - ความเป็นมา
        - แนวทางในการบริหารกองทุน
        - การใช้จ่ายเงินกองทุนพัฒนาไฟฟ้า
        - ข้อมูลด้านการเงิน และการบริหารงบประมาณ
        - การดำเนินงานตามภารกิจของทุนหมุนเวียน
        - โครงสร้างการบริหารของทุนหมุนเวียน
        - คณะอนุกรรมการบริหารกองทุนพัฒนาไฟฟ้า
        - วิสัยทัศน์ พันธกิจ และวัตถุประสงค์
        - ภาพรวมแผนยุทธศาสตร์ระยะยาว และแผนปฏิบัติการประจำปี
        - นโยบายการกำกับดูแลองค์การที่ดี
        - การดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาล
        - ผลการประเมินการดำเนินงานทุนหมุนเวียน
  • กฏหมายที่เกี่ยวข้อง
  •     - พ.ร.บ. การประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550
        - ระเบียบ กกพ.
        - ประกาศ กกพ.
        - คำวินิจฉัย ประธาน กกพ.
        - คำสั่ง กกพ.
        - คำสั่ง กกพ. (แต่งตั้งอนุกรรมการ)
        - คำสั่ง อกก.
        - คำสั่งคณะอนุกรรมการประเมินฯ
        - ประกาศ สำนักงาน กกพ.
        - คำสั่ง สำนักงาน กกพ.
        - รวมระเบียบกองทุนพัฒนาไฟฟ้า
  • การกำกับดูแลกองทุนพัฒนาไฟฟ้า
  •     - หน้าที่ความรับผิดชอบ
        - บุคลากรฝ่ายกองทุนฯ
  • แบบสำรวจความพึงพอใจ
  • ติดต่อสอบถาม
  • ติดต่อกองทุนพื้นที่
  • คลังความรู้
  • กองทุนพัฒนาไฟฟ้า
  • กองทุนมาตรา 97(1)
  •     - การชดเชยรายได้
        - การอุดหนุนผู้ใช้ไฟฟ้าที่ด้อยโอกาส
  • กองทุนมาตรา 97(2)
  • กองทุนมาตรา 97(3)
  •     - ข้อมูลกองทุนในพื้นที่
  • กองทุนมาตรา 97(4)
  • กองทุนมาตรา 97(5)
  • สื่อประชาสัมพันธ์
  • หนังสือพิมพ์
  •     - หนังสือพิมพ์ส่วนกลาง
        - หนังสือพิมพ์ส่วนท้องถิ่น
  • โปสเตอร์ & Roll Up
  • แผ่นพับ
  • ภาพยนตร์ประชาสัมพันธ์
  • สื่อวิทยุ
  • วิดีทัศน์ประชาสัมพันธ์
  • ดาวน์โหลดเอกสาร
  • การนำส่งเงินสำหรับผู้ประกอบการ
  • กองทุน มาตรา 97(3)
  •     - แนวปฏิบัติในการเสนอแผนงานฯ 2560
        - แนวปฏิบัติในการเสนอแผนงานฯ 2561
        - แนวปฏิบัติในการเสนอแผนงานฯ 2562
        - แนวปฏิบัติในการเสนอแผนงานฯ 2563
        - แนวปฏิบัติในการเสนอแผนงานฯ 2564
        - เอกสารการดำเนินงาน กองทุน ก และ ข
        - เอกสารการดำเนินงานกองทุน ค
        - เอกสารประกอบการอบรมสัมมนา
        - เอกสารเผยแพร่
        - เอกสารเกี่ยวกับการตรวจสอบภายใน
        - ผลการดำเนินงานกองทุนฯ ในพื้นที่
  • กองทุน มาตรา 97(4)
  • กองทุน มาตรา 97(5)
  • โลโก้กองทุนพัฒนาไฟฟ้า
  • กองทุนพัฒนาไฟฟ้าอวอร์ด 2559
  • ซักซ้อมความเข้าใจ
  • คำถามที่ถามบ่อย
  • พื้นที่กองทุน สรรหา คพรฟ. คพรต.
  • เกี่ยวกับการเงิน
  • เกี่ยวกับบัญชี
  • เกี่ยวกับพัสดุ
  • เกี่ยวกับงบประมาณ
  • เกี่ยวกับการตรวจสอบภายในกองทุนฯ
  • เกี่ยวกับการเสนอแผนงานประจำปี