หน้าแรก แนวปฏิบัติในการจัดซื้อจัดจ้าง
แนวปฏิบัติในการจัดซื้อจัดจ้าง
 


การดำเนินโครงการชุมชนที่ได้รับการสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาไฟฟ้าในพื้นที่ประกาศนั้น ตามระเบียบกองทุนฯ กำหนดให้ผู้ที่ได้รับการจัดสรรเงินกองทุนใช้จ่ายตามกรอบงบประมาณที่ได้รับการอนุมัติ โดยการจัดซื้อ จัดจ้าง การควบคุมและจำหน่ายพัสดุ จำแนกประเภทของการจัดซื้อจัดจ้าง เป็น 3 กลุ่ม ดังนี้

1. การจัดซื้อจัดจ้างโดย คพรฟ. ให้ดำเนินการตามระเบียบพัสดุกองทุนฯ

2. การจัดซื้อจัดจ้างโดยหน่วยงานของรัฐ ให้ปฏิบัติตามระเบียบพัสดุของหน่วยงานนั้น โดยอนุโลม

3. การจัดซื้อจัดจ้างโดยผู้รับการจัดสรรเงินกองทุนซึ่งเป็นกลุ่มบุคคล และเป็นการจัดซื้อจัดจ้างในวงเงินไม่เกินคราวละ 300,000 บาท ให้ผู้รับการจัดสรรเงินกองทุน คัดเลือกผู้รับผิดชอบในการจัดซื้อจัดจ้าง ประกอบด้วย ประชาชนในพื้นที่ประกาศจำนวน 3 คน ทำหน้าที่จัดซื้อจัดจ้างพัสดุ

แนวปฏิบัติเกี่ยวกับการพัสดุ

ตามระเบียบกองทุนฯ ได้กำหนดให้การพัสดุของการดำเนินงานกองทุนพัฒนาไฟฟ้าในพื้นที่ประกาศ ให้เป็นไปตามระเบียบที่ กกพ. กำหนด (ระเบียบกองทุนฯ ข้อ 62) ซึ่ง กกพ. ได้กำหนดแนวทางในการดำเนินการด้านการพัสดุไว้ในระเบียบคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ว่าด้วย การพัสดุของกองทุนพัฒนาไฟฟ้าเพื่อการพัฒนาหรือฟื้นฟูท้องถิ่นที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินงานของโรงไฟฟ้า พ.ศ. 2555 (ระเบียบพัสดุฯ) สรุปได้ดังนี้

1. ให้เลขาธิการสำนักงาน กกพ. มอบอำนาจให้ประธาน คพรฟ. ดำเนินการเกี่ยวกับการพัสดุ โดยประธาน คพรฟ. อาจมอบอำนาจช่วงเป็นหนังสือ แก่รองประธาน คพรฟ. หรือ กรรมการ คพรฟ. คนใดคนหนึ่ง ให้ดำเนินการในเรื่องใดเรื่องหนึ่งแทนได้ (ระเบียบพัสดุฯ ข้อ 5)

2. การดำเนินการเกี่ยวกับการพัสดุต้องเป็นไปตามวัตถุประสงค์ กรอบแผนงาน กรอบการจัดสรรเงินกองทุน และแผนงบประมาณประจำปีที่ กกพ. พิจารณาอนุมัติแล้ว โดยคำนึงถึง (ระเบียบพัสดุฯ ข้อ 6) ในประเด็นดังต่อไปนี้

- ประสิทธิภาพและประสิทธิผล โดยดำเนินการอย่างเปิดเผย โปร่งใส ตรวจสอบได้ ตามหลักธรรมาภิบาลที่ดี โดยมีการเก็บเอกสารการดำเนินงาน และการบริหารพัสดุอย่างเป็นระบบเพื่อประโยชน์ในการตรวจสอบ

ความคุ้มค่าของเงิน โดยเปรียบเทียบทางเลือกต่างๆ เพื่อให้ได้พัสดุที่มีคุณภาพดี เหมาะสม และเกิดประโยชน์จากการใช้งานมากที่สุด และได้ผลลัพธ์คุ้มค่า

การใช้พัสดุที่ผลิตในประเทศไทยและกิจการของคนไทยเป็นลำดับแรก

การดำเนินการอย่างเป็นธรรมกับผู้ประกอบการ หรือคู่สัญญาทุกรายด้วยความเสมอภาคทั้งในด้านการให้ข้อมูลข่าวสารและการพิจารณาเพื่อไม่ก่อให้เกิดการได้เปรียบเสียเปรียบระหว่างบุคคลหรือนิติบุคคลเหล่านั้น และป้องกันมิให้มีการขัดขวางการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรม หรือการเสนอราคาที่มีผลประโยชน์ร่วมกัน
การกระทำที่เข้าลักษณะเป็นการขัดขวางการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรมหรือการ เสนอราคาที่มีผลประโยชน์ร่วมกัน ตลอดจนวิธีดำเนินการเพื่อมิให้มีการขัดขวางการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรมหรือการเสนอราคาที่มีผลประโยชน์ร่วมกัน ให้เป็นไปตามระเบียบของทางราชการ

3. การดำเนินการเกี่ยวกับการพัสดุที่นอกเหนือจากระเบียบนี้กำหนดไว้ ให้เสนอ กกพ. พิจารณาให้ความเห็นชอบก่อน จึงจะดำเนินการได้ (ระเบียบพัสดุฯ ข้อ 7)



อำนาจในการอนุมัติสั่งจ้าง

ตามระเบียบพัสดุฯ ข้อ 8 ได้กำหนดอำนาจในการอนุมัติสั่งซื้อสั่งจ้างครั้งหนึ่งให้เป็นอำนาจของผู้มีอำนาจภายในวงเงิน ดังต่อไปนี้

- ประธาน คพรฟ. วงเงินอนุมัติไม่เกิน 1,000,000 บาท

คพรฟ. วงเงินอนุมัติที่เกิน 1,000,000 บาท ขึ้นไป โดยให้ดำเนินการให้เป็นไปตามมติที่ประชุม คพรฟ.

หลังจากได้รับอนุมัติจัดซื้อหรือจัดจ้างแล้ว ผู้มีอำนาจอาจมอบอำนาจเป็นหนังสือในการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องให้แก่ รองประธาน คพรฟ. หรือกรรมการ คพรฟ. คนใดคนหนึ่งในการดำเนินการแทนก็ได้ (ระเบียบพัสดุฯ ข้อ 5)



การจัดซื้อจัดจ้างโดย คพรฟ.

ตามระเบียบพัสดุฯ ข้อ 10 ได้กำหนดให้การจัดซื้อจัดจ้างพัสดุโดย คพรฟ. กระทำได้ 3 วิธี ดังต่อไปนี้

วิธีประกาศเชิญชวนทั่วไป ได้แก่ การเชิญชวนให้ผู้ประกอบการทั่วไปที่มีคุณสมบัติถูกต้องตามเงื่อนไขที่กำหนดเข้ายื่นข้อเสนอ

วิธีคัดเลือก ได้แก่ การเชิญชวนเฉพาะผู้ประกอบการที่มีคุณสมบัติตรงตามที่กำหนดซึ่งต้องไม่น้อยกว่าสามรายให้เข้ายื่นข้อเสนอ

วิธีเฉพาะเจาะจง ได้แก่ การให้ผู้ประกอบการที่มีคุณสมบัติตรงตามที่กำหนดรายใดรายหนึ่งให้เข้ายื่นข้อเสนอหรือให้เข้ามาเจรจาต่อรองราคากับ คพรฟ. โดยตรง

การจัดซื้อจัดจ้างโดยกรณีอื่นนอกเหนือจากวิธีการประกาศเชิญชวนทั่วไป

ตามระเบียบพัสดุ ข้อ 11 กำหนดให้การจัดซื้อจัดจ้างพัสดุให้เลือกใช้วิธีประกาศเชิญชวนทั่วไปก่อน  

การจัดซื้อจัดจ้างที่โดยวิธีคัดเลือก

ตามระเบียบพัสดุฯ ข้อ 11(1) ได้กำหนดให้การจัดซื้อจัดจ้างพัสดุโดย คพรฟ. ที่อยู่ภายใต้กรณีดังต่อไปนี้ ให้ใช้วิธีคัดเลือก

ใช้วิธีประกาศเชิญชวนทั่วไปแล้ว แต่ไม่มีผู้ยื่นข้อเสนอหรือข้อเสนอนั้นไม่ได้รับการคัดเลือก

มีความจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องใช้พัสดุนั้นอันเนื่องมาจากเกิดเหตุการณ์ที่ไม่อาจคาดหมายได้ ซึ่งหากใช้วิธีประกาศเชิญชวนทั่วไปจะทำให้ไม่ทันต่อความต้องการใช้พัสดุ

เป็นพัสดุที่โดยลักษณะของการใช้งานหรือมีข้อจำกัดทางเทคนิคที่จำเป็นต้องระบุยี่ห้อเป็นการเฉพาะ

การจัดซื้อจัดจ้างที่โดยวิธีเฉพาะเจาะจง

ตามระเบียบพัสดุฯ ข้อ 11(2) ได้กำหนดให้การจัดซื้อจัดจ้างพัสดุโดย คพรฟ. ที่อยู่ภายใต้กรณีดังต่อไปนี้ ให้ใช้ให้ใช้วิธีเฉพาะเจาะจง

ใช้ทั้งวิธีประกาศเชิญชวนทั่วไปและวิธีคัดเลือกแล้ว แต่ไม่มีผู้ยื่นข้อเสนอหรือข้อเสนอนั้นไม่ได้รับการคัดเลือก

การจัดซื้อจัดจ้างพัสดุที่มีการผลิต จำหน่าย หรือให้บริการทั่วไป และมีวงเงินในการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุครั้งหนึ่งไม่เกินวงเงิน 100,000 บาท

การจัดซื้อจัดจ้างพัสดุที่มีผู้ประกอบการซึ่งมีคุณสมบัติโดยตรงเพียงรายเดียว หรือ การจัดซื้อจัดจ้างพัสดุจากผู้ประกอบการซึ่งเป็นตัวแทนจำหน่ายหรือตัวแทนผู้ให้บริการเพียงรายเดียวในประเทศไทยและไม่มีพัสดุอื่นที่จะใช้ทดแทนได้

มีความจำเป็นต้องใช้พัสดุนั้น โดยฉุกเฉิน เนื่องจากอุบัติภัยธรรมชาติ หรือธรรมชาติพิบัติภัย

การจัดซื้อจัดจ้างพัสดุที่จำเป็นเร่งด่วน หากล่าช้าอาจทำให้เกิดความเสียหายแก่กองทุน

เป็นพัสดุที่เกี่ยวพันกับพัสดุที่ได้จัดซื้อจัดจ้างพัสดุไว้ก่อนแล้ว และมีความจำเป็นต้องการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุเพิ่มเติม เพื่อความสมบูรณ์หรือต่อเนื่องในการใช้พัสดุหรืองานจ้างนั้น และให้รวมถึงการต่อสัญญาซื้อหรือการต่อสัญญาจ้าง

เป็นพัสดุที่จะขายทอดตลาดโดยหน่วยงานของรัฐ องค์การระหว่างประเทศ หรือหน่วยงานของต่างประเทศ

เป็นพัสดุที่เป็นที่ดินและสิ่งก่อสร้างซึ่งจำเป็นต้องซื้อ หรือการเช่าเฉพาะแห่ง

เป็นการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุจากหน่วยงานของรัฐ ซึ่งเป็นผู้ผลิตและหรือจำหน่ายพัสดุหรือเป็นผู้รับจ้างงานนั้น

พัสดุที่ต้องการจัดซื้อจัดจ้างมีคุณลักษณะเฉพาะเป็นพิเศษหรือซับซ้อน หรือต้องผลิต ก่อสร้าง หรือให้บริการโดยผู้ประกอบการที่มีฝีมือโดยเฉพาะ หรือมีความชำนาญเป็นพิเศษ หรือมีทักษะสูง และผู้ประกอบการนั้นมีจำนวนจำกัด

เป็นงานจ้างซ่อมพัสดุที่จำเป็นต้องถอดตรวจให้ทราบความชำรุดเสียหายเสียก่อนจึงจะประมาณค่าซ่อมได้ เช่น งานจ้างซ่อมเครื่องจักร เครื่องมือกล เครื่องยนต์ เครื่องไฟฟ้า หรือเครื่องอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น

การจ้างที่ปรึกษา

ตามระเบียบพัสดุฯ ข้อ 31 กำหนดให้การจ้างที่ปรึกษากระทำได้ 2 วิธี ดังต่อไปนี้

วิธีคัดเลือก ได้แก่ การจ้างที่ปรึกษาโดยการคัดเลือกที่ปรึกษาที่มีคุณสมบัติเหมาะสมที่จะทำงานนั้นให้เหลือน้อยราย และเชิญชวนที่ปรึกษาที่ได้รับการคัดเลือกให้เหลือน้อยรายดังกล่าวยื่นข้อเสนอเข้ารับงานนั้น ๆ เพื่อพิจารณาคัดเลือกรายที่ดีที่สุด

วิธีเฉพาะเจาะจง ได้แก่ การจ้างที่ปรึกษาที่ คพรฟ. ตกลงจ้างผู้ให้บริการรายใดรายหนึ่งซึ่งเคยทราบหรือเคยเห็นความสามารถและผลงานแล้ว และเป็นผู้ให้บริการที่เชื่อถือได้

การเช่า

ตามระเบียบพัสดุฯ กำหนดให้ การเช่า อัตราค่าเช่า รวมทั้งค่าบริการอื่นเกี่ยวกับการเช่าให้ผู้มีอำนาจดำเนินการได้ตามความจำเป็นและเหมาะสม นอกจากนี้ในกรณีที่มีความจำเป็นต้องจ่ายค่าเช่าล่วงหน้า ให้จ่ายได้ไม่เกินร้อยละ 20 ของค่าเช่าทั้งสัญญา และให้กระทำได้เฉพาะกรณีการเช่าซึ่งมีระยะเวลาไม่เกิน 1 ปี การเช่าให้นำวิธีการและขั้นตอนการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุตามส่วนที่ 1 มาใช้บังคับโดยอนุโลม (ระเบียบพัสดุฯ ข้อ 39)

การทำสัญญาและหลักประกัน

ตามระเบียบพัสดุฯ ข้อ 40 กำหนดให้การทำสัญญาเป็นหลักฐานในการจัดซื้อ จัดจ้าง การจ้างที่ปรึกษา และการเช่า ให้ดำเนินการดังนี้

1. ในการจัดซื้อ จัดจ้าง การจ้างที่ปรึกษา หรือการเช่าแต่ละครั้ง ให้ประธาน คพรฟ. จัดทำสัญญาตามตัวอย่างที่สำนักงาน กำหนด โดยสัญญาให้ทำเป็นภาษาไทย ในกรณีมีความจำเป็นไม่สามารถใช้ตัวอย่างสัญญาที่ได้ หรือกรณีการเช่าซึ่งผู้เช่าจะต้องเสียเงินอื่นใดนอกจากค่าเช่า หรือในกรณีที่ผู้มีอำนาจอนุมัติเห็นว่าจะมีปัญหาในทางเสียเปรียบหรือไม่รัดกุมพอ ให้ส่งร่างสัญญานั้นให้สำนักงาน พิจารณาก่อนในกรณีจัดซื้อประกันภัยให้ถือว่ากรมธรรม์เป็นหนังสือสัญญา

2. การจัดซื้อจัดจ้าง การจ้างที่ปรึกษา หรือการเช่าในกรณีดังต่อไปนี้ จะทำข้อตกลงเป็นหนังสือไว้ต่อกันโดยไม่ต้องทำเป็นสัญญาก็ได้ โดยให้อยู่ในดุลพินิจของประธาน คพรฟ.

การจัดซื้อจัดจ้าง หรือการจ้างที่ปรึกษาที่มีวงเงินไม่เกิน 100,000 บาท

การจัดซื้อจัดจ้าง หรือการจ้างที่ปรึกษาที่คู่สัญญาสามารถส่งมอบพัสดุหรืองานจ้างได้ครบถ้วนภายในห้าวันทำการของทางราชการ นับตั้งแต่วันถัดจากวันทำข้อตกลงเป็นหนังสือ

การเช่า ซึ่งผู้เช่าไม่ต้องเสียเงินอื่นใดนอกจากค่าเช่า

การจัดซื้อจัดจ้าง หรือการจ้างที่ปรึกษาซึ่งมีราคาไม่เกิน 10,000 บาท จะไม่ทำข้อตกลงเป็นหนังสือไว้ต่อกันก็ได้ โดยให้ใช้ใบเสร็จรับเงินหรือใบแทนใบเสร็จรับเงินเป็นหลักฐาน

นอกจากนี้ยังกำหนดให้ส่งสำเนาสัญญาหรือข้อตกลงเป็นหนังสือซึ่งมีมูลค่าตั้งแต่หนึ่งล้านบาทขึ้นไปให้สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานประจำเขต ภายใน 30 วัน นับถัดจากวันทำสัญญาหรือข้อตกลง

3. ให้ประธาน คพรฟ. หรือผู้ที่ประธาน คพรฟ. มอบหมาย เป็นผู้มีอำนาจลงนามในสัญญาหรือข้อตกลงเป็นหนังสือ (ระเบียบพัสดุฯ ข้อ 41)

4. สัญญาและข้อตกลงเป็นหนังสือที่ได้ลงนามแล้วจะแก้ไขเปลี่ยนแปลงมิได้ เว้นแต่การแก้ไขนั้นจะเป็นความจำเป็นโดยไม่ทำให้กองทุนเสียประโยชน์ หรือเป็นการแก้ไขเพื่อประโยชน์ของกองทุน ให้ผู้มีอำนาจเป็นผู้อนุมัติให้แก้ไขเปลี่ยนแปลงได้ (ระเบียบพัสดุฯ ข้อ 42)

อัตราค่าปรับ

ตามระเบียบพัสดุฯ ข้อ 43 ได้กำหนดให้เงื่อนไขในข้อตกลงหรือสัญญาจะต้องไม่ทำให้กองทุนเสียเปรียบ รวมทั้งให้มีเงื่อนไขการปรับ กรณีส่งมอบล่าช้ากว่ากำหนด สรุปได้ดังนี้

1. การจัดซื้อจัดจ้างนอกจากการจ้างที่ปรึกษา ให้กำหนดค่าปรับเป็นรายวันในอัตราตายตัวระหว่างร้อยละ 0.01 - 0.20 ของราคาพัสดุที่ยังไม่ได้รับมอบ เว้นแต่การจ้างซึ่งต้องการผลสำเร็จของงานทั้งหมดพร้อมกัน ให้กำหนดค่าปรับเป็นรายวันเป็นจำนวนเงินตายตัวในอัตราร้อยละ 0.01 - 0.10 ของราคางานจ้างนั้น แต่จะต้องไม่ต่ำกว่าวันละ 100 บาท สำหรับงานก่อสร้างสาธารณูปโภคที่มีผลกระทบต่อการจราจร ให้กำหนดค่าปรับเป็นรายวันในอัตราร้อยละ 0.25 ของราคางานจ้างนั้น แต่อาจจะกำหนดขั้นสูงสุดของการปรับก็ได้

2. ในการทำสัญญาจ้างที่ปรึกษา หากเห็นว่า ถ้าไม่กำหนดค่าปรับไว้ในสัญญาจะเกิดความเสียหาย ให้ผู้จัดทำสัญญากำหนดค่าปรับเป็นรายวันในอัตราหรือจำนวนเงินตายตัวในอัตราร้อยละ 0.01 - 0.10 ของราคางานจ้างนั้นได้ตามความเหมาะสมและจำเป็นโดยคำนึงถึงราคาและลักษณะของงานจ้างซึ่งอาจมีผลกระทบต่อการที่คู่สัญญาจะหลีกเลี่ยงไม่ปฏิบัติตามสัญญา

3. ในกรณีการจัดหาสิ่งของที่ประกอบกันเป็นชุด ถ้าขาดส่วนประกอบส่วนหนึ่งส่วนใดไปแล้วจะไม่สามารถใช้การได้โดยสมบูรณ์ แม้คู่สัญญาจะส่งมอบสิ่งของภายในกำหนดตามสัญญา แต่ยังขาดส่วนประกอบบางส่วน ต่อมาได้ส่งมอบส่วนประกอบที่ยังขาดนั้นเกินกำหนดสัญญา ให้ถือว่าไม่ได้ส่งมอบสิ่งของนั้นเลย ให้ปรับเต็มราคาของทั้งชุด

4. ในกรณีที่การจัดหาสิ่งของคิดราคารวมทั้งค่าติดตั้งหรือทดลองด้วย ถ้าติดตั้งหรือทดลองเกินกว่ากำหนดตามสัญญาเป็นจำนวนวันเท่าใด ให้ปรับเป็นรายวันในอัตราที่กำหนดของราคาทั้งหมด

5. เมื่อครบกำหนดส่งมอบพัสดุตามสัญญาหรือข้อตกลง ให้ คพรฟ. รีบแจ้งการเรียกค่าปรับตามสัญญาหรือข้อตกลงจากคู่สัญญา และเมื่อคู่สัญญาได้ส่งมอบพัสดุ ให้ คพรฟ. บอกสงวนสิทธิการเรียกค่าปรับในขณะที่รับมอบพัสดุนั้นด้วย

หลักประกันสัญญา

ตามระเบียบพัสดุฯ ข้อ 45 กำหนดให้การทำสัญญาจะต้องให้ผู้ขาย ผู้รับจ้าง วางหลักประกันสัญญาในอัตราไม่ต่ำกว่าร้อยละ 5 ของราคาตามสัญญา สำหรับสัญญาจ้างที่ปรึกษาให้หักเงินที่จะจ่ายแต่ละครั้งในอัตราไม่ต่ำกว่าร้อยละ 5 เป็นเงินประกัน โดยมีรายละเอียด ดังนี้

1. ในกรณีที่หน่วยงานของรัฐเป็นคู่สัญญา ไม่ต้องวางหลักประกันสัญญา หรือกรณีสัญญาเช่าอสังหาริมทรัพย์ผู้ให้เช่าไม่ต้องวางหลักประกันสัญญา นอกจากนี้หลักประกันสัญญา ให้ใช้หลักประกันอย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้ (ระเบียบพัสดุฯ ข้อ 45) คือ 1) เงินสด 2) เช็คที่ธนาคารเป็นผู้สั่งจ่าย ซึ่งเป็นเช็คลงวันที่ที่ใช้เช็คนั้นชำระต่อเจ้าหน้าที่หรือก่อนวันนั้นไม่เกิน 3 วันทำการ 3) หนังสือค้ำประกันของธนาคารที่ประกอบธุรกิจในราชอาณาจักรไทย หรือ 4) พันธบัตรรัฐบาลไทยซึ่งได้จดทะเบียนในการใช้เป็นหลักประกันที่ธนาคารแห่งประเทศไทย

2. ให้ คพรฟ. คืนหลักประกันให้แก่คู่สัญญา หรือผู้ค้ำประกัน หลังจากวันที่คู่สัญญาพ้นจากข้อผูกพันตามสัญญาแล้ว (ระเบียบพัสดุฯ ข้อ 46)

3. ในกรณีที่มีความจำเป็นต้องจ่ายเงินล่วงหน้าให้ผู้ขาย ผู้รับจ้าง หรือที่ปรึกษา ให้จ่ายได้ไม่เกินร้อยละ 20 ของวงเงินตามสัญญา และต้องให้ผู้ขาย ผู้รับจ้าง หรือที่ปรึกษา วางหลักประกันเงินจ่ายล่วงหน้าที่ได้รับล่วงหน้าไปนั้น โดยจะต้องกำหนดไว้ในเงื่อนไขก่อนทำสัญญา ยกเว้นในกรณีการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุ หรือการจ้างที่ปรึกษาจากหน่วยงานของรัฐ สามารถจ่ายเงินล่วงหน้าได้ไม่เกินร้อยละ 50 ของวงเงินตามสัญญาโดยไม่ต้องวางหลักประกัน (ระเบียบพัสดุฯ ข้อ 47)

4. การงดหรือลดค่าปรับให้แก่คู่สัญญา หรือการขยายเวลาทำการตามสัญญาหรือข้อตกลงเป็นหนังสือ ให้คณะกรรมการตรวจรับพัสดุหรือคณะกรรมการตรวจรับการจ้าง แล้วแต่กรณี เสนอขออนุมัติต่อผู้มีอำนาจตามจำนวนวันที่เกิดขึ้นจริง เฉพาะกรณีดังต่อไปนี้ 1) เหตุเกิดจากความผิดหรือความบกพร่องของ คพรฟ. 2) เหตุสุดวิสัย และ 3) เหตุเกิดจากพฤติการณ์อันหนึ่งอันใดที่คู่สัญญาไม่ต้องรับผิดตามกฎหมาย (ระเบียบพัสดุฯ ข้อ 48)

5. ให้ คพรฟ. ระบุไว้ในสัญญาหรือข้อตกลงเป็นหนังสือ กำหนดให้คู่สัญญาต้องแจ้งเหตุดังกล่าวให้ คพรฟ. ทราบภายใน 15 วัน นับตั้งแต่เหตุนั้นสิ้นสุดลง หากมิได้แจ้งภายในเวลาที่กำหนด คู่สัญญาจะยกมากล่าวอ้างเพื่อขอลดหรืองดค่าปรับ หรือขอขยายเวลาในภายหลังมิได้ เว้นแต่กรณีซึ่งมีหลักฐานชัดแจ้ง หรือ คพรฟ. ทราบดีอยู่แล้วตั้งแต่ต้น

การบอกเลิกสัญญาหรือข้อตกลงเป็นหนังสือ

ตามระเบียบระเบียบพัสดุฯ (ข้อ 52) มอบอำนาจให้ประธาน คพรฟ. หรือ คพรฟ. แล้วแต่กรณีสามารถพิจารณาใช้สิทธิบอกเลิกสัญญา หรือข้อตกลง ในกรณีที่มีเหตุอันเชื่อได้ว่าผู้รับจ้างไม่สามารถทำงานให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลาที่กำหนดหรือเหตุอื่นตามที่กำหนดในสัญญา โดยการตกลงกับคู่สัญญาเพื่อเลิกสัญญาหรือข้อตกลงเป็นหนังสือ ให้ประธาน คพรฟ. กระทำได้เฉพาะกรณีที่เป็นประโยชน์แก่กองทุนโดยตรง หรือเพื่อแก้ไขข้อเสียเปรียบของ คพรฟ.ในการที่จะปฏิบัติตามสัญญาหรือข้อตกลง ต่อไป
แต่ในกรณีที่คู่สัญญาไม่สามารถปฏิบัติให้ถูกต้องตามสัญญาหรือข้อตกลงเป็นหนังสือได้และจะต้องมีการปรับตามเงื่อนไขและอัตราที่กำหนดไว้ในระเบียบพัสดุฯ ข้อ 43 หากจำนวนเงินค่าปรับจะเกินร้อยละสิบของวงเงินจัดซื้อจัดจ้างพัสดุครั้งนั้น ให้ประธาน คพรฟ. พิจารณาดำเนินการบอกเลิกสัญญาหรือข้อตกลงเป็นหนังสือกับคู่สัญญานั้น แต่หากคู่สัญญามีหนังสือยินยอมชำระค่าปรับ โดยไม่มีเงื่อนไข ประธาน คพรฟ. จะไม่บอกเลิกสัญญาหรือข้อตกลงเป็นหนังสือกับคู่สัญญานั้นก็ได้ (ระเบียบพัสดุฯ ข้อ 54)

การจัดซื้อจัดจ้างโดยหน่วยงานของรัฐ

ตามระเบียบพัสดุฯ ข้อ 54 กำหนดให้การจัดซื้อ จัดจ้างที่ดำเนินการโดยหน่วยงานของรัฐ ให้ปฏิบัติตามระเบียบพัสดุของหน่วยงานนั้น โดยอนุโลม


การจัดซื้อจัดจ้างโดยผู้รับการจัดสรรเงินกองทุนที่มิใช่หน่วยงานของรัฐ

ตามระเบียบพัสดุฯ ข้อ 55 ได้กำหนดขั้นตอนสำหรับการจัดซื้อจัดจ้างของผู้รับการจัดสรรเงินกองทุนภาคประชาชน และเป็นการจัดซื้อจัดจ้างในวงเงินไม่เกินคราวละ 300,000 บาท เป็นการจัดซื้อ จัดจ้างที่ไม่ยุ่งยากซับซ้อน และมียอดการจัดซื้อไม่มากนัก เปิดโอกาสให้ชุมชนดำเนินการจัดซื้อ จัดจ้างได้ด้วยตนเอง เพื่อความสะดวกและคล่องตัวในการดำเนินการ ซึ่งมีขั้นตอนสรุปได้ดังนี้

1. เมื่อโครงการชุมชนได้รับอนุมัติเงินกองทุนตามโครงการที่เสนอขอแล้ว ให้ผู้มีอำนาจอนุมัติ ทำข้อตกลงกับผู้รับการจัดสรรเงินกองทุนภาคประชาชน ประกอบด้วย ประชาชนในพื้นที่ประกาศจำนวน 3 คน ทำหน้าที่จัดซื้อจัดจ้างพัสดุ ตามแผนงานที่ระบุในข้อตกลง โดยพัสดุที่จัดซื้อจัดจ้างต้องมีคุณภาพดีและราคาเหมาะสม แล้วรายงานผลการจัดซื้อจัดจ้างดังกล่าวให้ คพรฟ. ทราบ(ระเบียบพัสดุฯ ข้อ 56)

2. การจัดซื้อจัดจ้างพัสดุโดยผู้รับการจัดสรรเงินกองทุนภาคประชาชนกระทำได้ 2 วิธี ดังต่อไปนี้ (ระเบียบพัสดุฯ ข้อ 57)

วิธีติดต่อตกลงราคากับผู้ขาย ผู้รับจ้าง หรือผู้ให้เช่าโดยตรง ในกรณีที่มีวงเงินการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุไม่เกิน 100,000 บาท

วิธีประกาศการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุ เพื่อให้ผู้ขาย ผู้รับจ้าง หรือผู้ให้เช่ามากกว่าหนึ่งรายขึ้นไปยื่นข้อเสนอราคา ในกรณีที่มีวงเงินการจัดซื้อจัดจ้างเกินกว่า 100,000 บาท โดยปิดป้ายประกาศตามที่สาธารณะหรือทำหนังสือเชิญ หรือประกาศเสียงตามสายล่วงหน้าอย่างน้อย 3 วัน เพื่อเชิญชวน

3. ให้ผู้รับการจัดสรรเงินกองทุนภาคประชาชน คัดเลือกผู้รับผิดชอบในการจัดซื้อจัดจ้าง เพื่อพิจารณาประกาศการจัดซื้อจัดจ้างตามวิธีที่กำหนด และเมื่อมีผลการจัดซื้อจัดจ้างดังกล่าวแล้ว ให้ประชุมร่วมกันเพื่อพิจารณาตรวจรับการจัดซื้อจัดจ้างนั้น (ระเบียบพัสดุฯ ข้อ 58)

4. เมื่อผู้รับผิดชอบตามวรรคหนึ่งตรวจรับการจัดซื้อจัดจ้างแล้ว ให้ลงชื่อกำกับในหลักฐานการตรวจรับอย่างน้อย 2 ใน 3 คนทุกครั้ง แล้วรายงานให้ประธาน คพรฟ. ทราบ

การตรวจสอบโครงการโดย คพรฟ.

ตามระเบียบพัสดุฯ ข้อ 59 กำหนดให้ คพรฟ. แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบโครงการ เพื่อตรวจสอบโครงการที่ได้รับการจัดสรรเงินว่าเป็นไปตามแผนงานโครงการ และเงื่อนไขต่างๆที่กำหนดในสัญญาจัดซื้อจัดจ้าง และให้รายงานผลการตรวจสอบโครงการต่อ คพรฟ.
คณะกรรมการประกอบด้วยกรรมการอย่างน้อย 3 คน โดยแต่งตั้งจากกรรมการ คพรฟ. หรือ คพรต. อย่างน้อย 1 คน และเจ้าหน้าที่กองทุน และบุคคลที่มีภูมิลำเนาอยู่ในพื้นที่ประกาศที่มิใช่เป็นผู้ดำเนินโครงการ

การแต่งตั้งเจ้าหน้าที่พัสดุ

ตามระเบียบพัสดุฯ ข้อ 60 กำหนดให้ คพรฟ. ต้องมีการแต่งตั้งเจ้าหน้าที่พัสดุ ซึ่งมีหน้าที่ในการควบคุมพัสดุของเงินกองทุน ดังนี้

1. พิจารณาชนิดและจำนวนของพัสดุที่จำเป็นต้องเก็บสำรอง โดยแยกประเภทตามกลุ่มพัสดุ โดยให้มีจำนวนเท่าที่จำเป็น และจัดหามาทดแทนเมื่อมีจำนวนน้อยลง

2. จัดให้มีบัญชีคุมพัสดุ โดยใช้วิธีการทางบัญชีเป็นหลัก และให้สามารถตรวจสอบได้ตลอดเวลา

3. จัดให้มีการตรวจสอบพัสดุประจำปีในเดือนสุดท้ายของทุกปี

4. จัดให้มีการเก็บรักษาและดูแลพัสดุในสภาพที่เหมาะสม และปลอดภัย พร้อมที่จะใช้งานได้ทันที หากพัสดุรายการใดหมดความจำเป็นหรือเสื่อมสภาพไม่เหมาะสมต่อการใช้งาน ให้เสนอขออนุมัติจำหน่าย


การควบคุมและจำหน่ายพัสดุของ คพรฟ.

ตามระเบียบพัสดุฯ ข้อ 61 ได้กำหนดแนวทางในการจำหน่ายพัสดุ โดยให้ประธาน คพรฟ. พิจารณาดำเนินการตามความเหมาะสมและจำเป็น โดยพัสดุที่จะจำหน่ายจะต้องเป็นกรณีใดกรณีหนึ่ง ดังต่อไปนี้

1. พัสดุที่ต้องจำหน่ายเพื่อประโยชน์แก่การดำเนินกิจการของกองทุน

2. พัสดุที่ได้รับอนุมัติให้จำหน่ายออกจากบัญชีหรือทะเบียนแล้ว ให้ดำเนินการตามวิธีการอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้

- การขาย ให้ประธาน คพรฟ. แต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นคณะหนึ่งเพื่อประเมินสภาพและตรวจสอบราคาคงเหลือของพัสดุนั้นก่อน และให้ดำเนินการโดยวิธีขายทอดตลาด เว้นแต่การขายพัสดุครั้งหนึ่งซึ่งมีราคาได้มาไม่เกิน 100,000 บาทต่อหน่วย จะขายโดยวิธีตกลงราคาก็ได้

การแลกเปลี่ยน ให้ทำได้ในกรณีที่เป็นประโยชน์ต่อกองทุนและมีมูลค่าของพัสดุที่เท่าเทียมหรือใกล้เคียงกัน

การโอน ให้โอนแก่หน่วยงานของรัฐ หน่วยงานกุศลสาธารณะ หรือกรณีอื่นที่ประธาน คพรฟ. เห็นสมควร ทั้งนี้ ให้มีหลักฐานการส่งมอบไว้ต่อกันด้วย (ผู้แทนหรือประธานชุมชนที่ได้รับมอบหมายจัดโครงการชุมชน เป็นผู้ดำเนินการ)

การแปรสภาพหรือทำลาย ให้ทำได้ในกรณีที่เป็นประโยชน์ต่อกองทุน

การยืมและส่งคืนพัสดุ

ตามระเบียบพัสดุฯ ข้อ 62 ได้กำหนดขั้นตอนในการให้ยืมครุภัณฑ์และการส่งคืนให้ดำเนินการ (สำหรับพัสดุที่จัดซื้อโดย คพรฟ.) โดยมีขั้นตอนสรุปได้ดังต่อไปนี้

1. ให้ผู้ยืมทำหลักฐานการยืมเป็นลายลักษณ์อักษร แสดงเหตุผล และกำหนดวันส่งคืน เสนอให้ประธาน คพรฟ. เป็นผู้อนุมัติ

2. ผู้ยืมจะต้องนำครุภัณฑ์นั้นมาส่งคืนให้ในสภาพที่เรียบร้อย หากเกิดชำรุดเสียหาย หรือสูญหาย ให้ผู้ยืมจัดการแก้ไขซ่อมแซมให้คงสภาพเดิม โดยเสียค่าใช้จ่ายของตนเองหรือชดใช้เป็นเงินตราตามราคาที่เป็นอยู่ขณะยืม

3. ในกรณีที่พัสดุหมดความจำเป็นหรือหากใช้ต่อไปจะสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายมาก หรือกรณีที่พัสดุสูญไปก่อนมีการตรวจสอบพัสดุประจำปี โดยไม่ปรากฏตัวผู้รับผิด หรือมีตัวผู้รับผิดแต่ไม่สามารถชดใช้ได้ ให้เจ้าหน้าที่พัสดุรายงานต่อประธาน คพรฟ. เพื่อดำเนินการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไปและให้ประธาน คพรฟ. (ระเบียบพัสดุฯ ข้อ 63)

4. ก่อนทุกสิ้นปีงบประมาณ ให้ประธาน คพรฟ. แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบพัสดุ ซึ่งมีตัวแทนชุมชนในพื้นที่ประกาศอย่างน้อย 1 คน เพื่อตรวจสอบพัสดุของกองทุน (ระเบียบพัสดุฯ ข้อ 64) โดยทำหน้าที่ดังต่อไปนี้

ตรวจสอบการรับ-จ่ายพัสดุ ในแต่ละรอบปีงบประมาณ ตรวจนับพัสดุประเภทที่คงเหลืออยู่เพียงวันสิ้นปีงบประมาณ

ตรวจนับครุภัณฑ์ว่าตรงตามทะเบียนคุมครุภัณฑ์หรือไม่ ตรวจสอบว่าพัสดุใดชำรุด เสื่อมสภาพ หรือสูญหายไปเพราะเหตุใด หรือพัสดุใดไม่จำเป็นต้องใช้อีกต่อไป แล้วให้เสนอรายงานผลการตรวจสอบต่อประธาน คพรฟ. ภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันเริ่มดำเนินการตรวจสอบพัสดุ

5. ให้มีการตรวจสอบภายในด้านการพัสดุ และรายงาน สำนักงานทราบ

การควบคุม และจำหน่ายพัสดุของผู้รับการจัดสรรเงินกองทุน

ตามระเบียบพัสดุฯ ได้กำหนดแนวทางในการการควบคุม และจำหน่ายพัสดุของผู้รับการจัดสรรเงินกองทุนอื่น ๆ (หน่วยงานรัฐ หรือการจัดซื้อจัดจ้างของผู้รับการจัดสรรเงินกองทุนภาคประชาชน และเป็นการจัดซื้อจัดจ้างในวงเงินไม่เกินคราวละ 300,000 บาท) มีหลักเกณฑ์ดังนี้

1. หากพัสดุนั้นจัดซื้อมาโดยผู้รับการจัดสรรเงินกองทุน ให้ตัดเป็นค่าใช้จ่าย และตัดออกจากการบันทึกบัญชีของกองทุน (ระเบียบพัสดุฯ ข้อ 65)

2. ในกรณีที่ผู้รับการจัดสรรเงินกองทุนเป็นหน่วยงานของรัฐให้ดำเนินการควบคุมและจำหน่ายพัสดุตามระเบียบของหน่วยงานนั้น (ระเบียบพัสดุฯ ข้อ 67)

3. ในกรณีที่ผู้รับการจัดสรรเงินกองทุนภาคประชาชน (การจัดซื้อจัดจ้างในวงเงินไม่เกินคราวละ 300,000 บาท) ให้แต่งตั้งผู้รับผิดชอบในการดำเนินการควบคุม และจำหน่ายพัสดุ (ระเบียบพัสดุฯ ข้อ 67) สรุปได้ดังนี้ 1) ให้จัดทำทะเบียนพัสดุ 2) ตรวจสอบพัสดุประจำปีในเดือนสุดท้ายของทุกปี และรายงานให้ คพรฟ. ทราบ 3) สำหรับพัสดุรายการใดหมดความจำเป็นหรือเสื่อมสภาพไม่เหมาะสมต่อการใช้งาน ให้คัดเลือกประชาชนในพื้นที่ประกาศ จำนวน 3 คน เพื่อดำเนินการจำหน่ายพัสดุ ตามวิธีการอย่างใดอย่างหนึ่ง คือ วิธีขายทอดตลาด แลกเปลี่ยน โอน แปรสภาพหรือทำลาย 4) เงินที่ได้รับจากการจำหน่ายพัสดุ ให้ส่งคืน กองทุน ต่อไป

การประกันภัย

ตามระเบียบพัสดุฯ ข้อ 68 สามารถให้ประธาน คพรฟ. ดำเนินการเกี่ยวกับการประกันภัยได้ตามความเหมาะสมและจำเป็นเพื่อประโยชน์ของกองทุน หรือผู้ได้รับผลกระทบจากการดำเนินงานของโรงไฟฟ้า

การลงโทษผู้ทิ้งงานและบทกำหนดโทษ

ตามระเบียบพัสดุฯ ข้อ 69 ได้กำหนดให้บทลงโทษสำหรับกรณีที่ผู้ยื่นข้อเสนอการจัดซื้อ การจ้าง หรือการจ้างที่ปรึกษาซึ่งได้รับการคัดเลือกแล้ว ไม่ยอมมาทำสัญญาหรือข้อตกลงภายในเวลาที่กำหนด หรือผู้ขาย ผู้รับจ้าง ผู้รับจ้างเป็นที่ปรึกษาไม่ปฏิบัติตามสัญญาหรือข้อตกลง โดยไม่มีเหตุผลอันสมควร ให้ประธาน คพรฟ. รายงานให้สำนักงาน ทราบ ทั้งนี้ ห้าม คพรฟ. หรือผู้รับการจัดสรรเงินกองทุนภาคประชาชนก่อนิติสัมพันธ์กับผู้ขายหรือผู้รับจ้างดังกล่าว รวมถึงบุคคลซึ่งถูกระบุชื่อไว้ในบัญชีรายชื่อผู้ทิ้งงานของราชการหรือสำนักงาน จนกว่าจะมีการพิจารณาเป็นอย่างอื่น

สำหรับผู้มีอำนาจหรือหน้าที่ดำเนินการตามระเบียบนี้ หรือผู้หนึ่งผู้ใดกระทำการใดโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อไม่ปฏิบัติตามระเบียบนี้ หรือกระทำการโดยมีเจตนาทุจริต หรือกระทำการโดยปราศจากอำนาจ หรือนอกเหนืออำนาจหน้าที่ รวมทั้งมีพฤติกรรมที่เอื้ออำนวยแก่ผู้เข้าเสนอราคาหรือเสนองานให้มีการขัดขวางการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรม เมื่อปรากฏชัดว่ามีการกระทำผิดจริง จะมีการดำเนินการตามกฎหมาย หรือระเบียบ ที่เกี่ยวข้อง ต่อไป และการได้รับการลงโทษนั้นไม่เป็นเหตุให้ผู้กระทำหลุดพ้นจากความรับผิดในทางแพ่งและหรือความรับผิดทางอาญาตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง (ระเบียบพัสดุฯ ข้อ 70)
หน้าแรก
กองทุนมาตรา 97(3)
  • ความเป็นมา
  • ประเภทของกองทุนพัฒนาไฟฟ้า
  • กรอบการจัดสรรเงินกองทุน
  • ประเภทของการบริหารกองทุน
  • การสรรหา คพรฟ./คพรต.
  •     - ที่มาของ คพรฟ.
        - ที่มาของ คพรต.
        - ขั้นตอนการดำเนินการสรรหา
        - เวทีประชาสัมพันธ์ระดับตำบล
        - เวทีประชาคมหมู่บ้าน
        - เวทีประชุมตำบล
        - ภาพการสรรหาคณะกรรมการกองทุน
  • การสรรหาผู้แทน กองทุน ค
  • ข้อมูลกองทุนในพื้นที่
  •     - รายละเอียดของแต่ละกองทุน
    การจัดทำแผนงานประจำปี
  • การจัดทำแผนงานประจำปี ของ คพรฟ.
  •     - การจัดทำแผนงานประจำปี
        - การสำรวจความต้องการของประชาชน
        - ประเภทโครงการชุมชนที่สามารถขอเงินสนับสนุนจากกองทุน
  • การจัดทำข้อเสนอโครงการชุมชน
  •     - ขั้นตอนการจัดทำข้อเสนอโครงการ
  • การพิจารณาโครงการชุมชน
  •     - ขั้นตอนการพิจารณาอนุมัติโครงการชุมชน
        - แนวทางการพิจารณาแผนงาน
        - ประเด็นเพิ่มเติมที่ควรคำนึงถึง
  • ค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการ
  •     - การจัดทำประมาณการค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการ
  • การดำเนินโครงการชุมชน
  •     - การจัดทำสัญญารับการสนับสนุน
        - แนวปฏิบัติด้านการเงิน
        - แนวปฏิบัติสำหรับการเบิกจ่ายเงินกองทุน
        - แนวทางการเก็บเอกสารทางการเงิน
        - แนวปฏิบัติในการจัดซื้อจัดจ้าง
  • การรับเงินและทรัพย์สิน
  •     - ระเบียบ กกพ. ว่าด้วยการรับเงินและทรัพย์สิน
    ผลการดำเนินงาน
  • ข้อมูลด้านการเงิน และการบริหารงบฯ
  • พื้นที่ประกาศกองทุน
  •     - หลักการกำหนดพื้นที่ประกาศ
        - พื้นที่ประกาศกองทุน ประเภท ก
        - พื้นที่ประกาศกองทุน ประเภท ข
        - พื้นที่ประกาศกองทุน ประเภท ค
  • คณะกรรมการกองทุน
  •     - คำสั่งแต่งตั้ง คพรฟ.
        - คำสั่งแต่งตั้ง คพรต.
        - ผู้แทน กองทุน ค
  • กรอบงบประมาณ ที่ กกพ. อนุมัติ
  •     - กองทุน ประเภท ก
        - กองทุน ประเภท ข
        - กองทุน ประเภท ค
  • ผลการอนุมัติแผนงานฯ
  •     - กองทุน ประเภท ก
        - กองทุน ประเภท ข
        - กองทุน ประเภท ค
  • ผลการพิจารณาแผนงานฯ อื่น ๆ
  •     - กองทุน ประเภท ก
        - กองทุน ประเภท ข
  • ผลการพิจารณางบประมาณเหลื่อมปี
  •     - กองทุนฯ ประเภท ก
        - กองทุนฯ ประเภท ข
    คำถามที่ถามบ่อย
  • พื้นที่กองทุน สรรหา คพรฟ. คพรต.
  • เกี่ยวกับการเงิน
  • เกี่ยวกับบัญชี
  • เกี่ยวกับพัสดุ
  • เกี่ยวกับงบประมาณ
  • เกี่ยวกับการตรวจสอบภายในกองทุนฯ
  • เกี่ยวกับการเสนอแผนงานประจำปี